วันพุธ, 5 กุมภาพันธ์ 2568

[sample] โลกร้อนขึ้น…ครัวไทยสู่โลกกำลังเดือดร้อน!

04 พ.ย. 2024
54

โลกร้อนกำลังกระทบอาหารการกินของเราอย่างคาดไม่ถึง !!! องค์การอุตุนิยมวิทยาโลกเตือนว่า  ภายในอีก 3 ปี หรือ ปี 2027 อุณหภูมิโลกจะพุ่งขึ้น 1.5 °C

            ที่น่าตกใจคือ ประเทศไทยติดอันดับ 9 ของโลก ที่มีความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จาก 180 ประเทศ!

  • อากาศผันผวนสั่นคลอนครัวไทยสู่โลก

จากเดิมที่ไทยเรามีทำเลที่ตั้งสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเกษตร จนได้ชื่อว่าเป็น “ครัวของโลก”

แต่จากข้อมูลของศูนย์วิจัยกสิกรไทย ภาวะโลกร้อน อากาศแปรปรวน ทำให้การปลูกพืชเศรษฐกิจสำคัญของไทยหลายตัวกำลังได้รับผลกระทบ

  • ข้าวและอ้อย ซึ่งครองพื้นที่เพาะปลูกถึง 60% ของประเทศ กำลังเผชิญกับความท้าทาย: ผลผลิตต่อไร่ต่ำกว่าคู่แข่ง และมีแนวโน้มผันผวนตามสภาพอากาศที่แปรปรวน
  • ปาล์มน้ำมัน แม้จะให้ผลผลิตต่อไร่สูงกว่าคู่แข่ง แต่ในช่วงภัยแล้งรุนแรง (ปี 2014-2016) ผลผลิตลดลงถึง 12%
  • ภาคประมง คาดว่าผลผลิตสัตว์น้ำในเขตร้อนอาจลดลงถึง 40% ภายในปี 2050 เพราะอุณหภูมิน้ำทะเลที่สูงขึ้น
  • กระทบห่วงโซ่ธุรกิจ

ไม่ใช่แค่เกษตรกรที่เดือดร้อน จากผลผลิตที่ผันผวนจากสภาพอากาศ แต่ยังลามไปถึงธุรกิจกลางน้ำ-ปลายน้ำในอุตสาหกรรมอาหารอีก 82,000 ราย ที่ได้รับผลกระทบต่อกันเป็นลูกโซ่

  • เผชิญปัญหาขาดแคลนวัตถุดิบ
  • ต้นทุนธุรกิจพุ่งสูงขึ้นตามราคาวัตถุดิบ (โดยเฉลี่ยต้นทุนวัตถุดิบมีสัดส่วนราว 40-70% ของต้นทุนรวม)
  • สินค้าเกษตรและอาหารที่จำเป็นบางอย่างต้องปรับราคาขึ้นตามต้นทุน บางอย่างต้องจำกัดการซื้อจากผลผลิตที่ไม่เพียงพอ เช่น น้ำมันพืช น้ำตาลทรายขาว
  • มาตรการสีเขียวจากต่างประเทศ:แรงกดดันใหม่ที่ต้องรับมือ

ไม่เพียงแค่ธรรมชาติที่ท้าทาย แต่คู่ค้าสำคัญอย่างสหภาพยุโรปและสหรัฐฯ (ที่มีสัดส่วนเกือบ 20% ของมูลค่าส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารของไทย) ก็เริ่มออกมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมที่เข้มงวดขึ้น ไม่ว่าจะเป็น :

  • ยุทธศาสตร์ Farm to Fork: ต้องลดการใช้สารเคมี และแสดงข้อมูลผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม
  • กฎหมาย EUDR: สินค้า 7 ประเภท (โกโก้ กาแฟ ถั่วเหลือง น้ำมันปาล์ม เนื้อวัว ยาง ไม้) ที่นำเข้า-ส่งออกใน EU ต้องปลอดจากการตัดไม้ทำลายป่า
  • มาตรฐานความยั่งยืนต่างๆ ของผู้ผลิตอาหารรายใหญ่ของโลก : กดดันให้ผู้ส่งออกไทยต้องเผชิญต้นทุนการจัดการเพิ่มขึ้น
  • ใครได้รับผลกระทบมากที่สุด?

         ธุรกิจที่พึ่งพาการส่งออกสูงจะได้รับผลกระทบหนักที่สุด โดยเฉพาะผู้ส่งออกผักผลไม้แปรรูป และผู้ส่งออกอาหารทะเลและเนื้อสัตว์แปรรูป เพราะทั้ง 2 กลุ่มนี้พึ่งพาการส่งออกมากกว่า 50% ของผลผลิตทั้งหมด

  • อนาคตของครัวไทยสู่โลกจะเป็นอย่างไร?

            ปัจจุบัน การส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารของไทย มีมูลค่า 4.2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็น 15% ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมดซึ่งสูงเป็นอันดับ 2 ในอาเซียน รองจากอินโดนีเซีย แต่หากผู้ประกอบการไทยไม่ปรับตัวรับมือกับ Climate Change สัดส่วนนี้มีความเสี่ยงที่จะลดลงต่ำกว่า 15% จาก :

  • ผลผลิตไม่เพียงพอ
  • กฎระเบียบด้านสิ่งแวดล้อมที่เข้มงวดขึ้น
  • ความสามารถในการแข่งขันด้านราคาที่ลดลง
  • ผู้ประกอบการบางส่วนย้ายฐานการผลิตไปใกล้ตลาดส่งออก
  • มุมมองของศูนย์วิจัยกสิกรไทย

            มาตรการด้านสิ่งแวดล้อมที่เข้มงวดขึ้น จะยิ่งเป็นแรงกดดันให้ผู้ประกอบการในภาคเกษตรและอาหารของไทยต้องเริ่มปรับตัว ทำให้มีต้นทุนส่วนเพิ่ม แต่หากไม่ปรับเลยก็อาจต้องเผชิญบทลงโทษจากคู่ค้า เช่น การเก็บภาษีคาร์บอน การลด/ยกเลิกคำสั่งซื้อ

            แม้การปรับตัวด้านสิ่งแวดล้อมจะมีต้นทุนเพิ่ม แต่ถ้าเริ่มทำแต่เนิ่นๆ ในระยะยาวจะเป็นแต้มต่อทางการค้า และมีโอกาสขยายตลาดเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในตลาดที่ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม

            ทางเลือกอยู่ที่การชั่งน้ำหนักของผู้ประกอบการ ระหว่างยอมแบกต้นทุนในการปรับตัวกับต้นทุนการปล่อยก๊าซเรือนกระจก หรือจะเสี่ยงสูญเสียความสามารถการแข่งขันในวันข้างหน้า ?

—————————————-

*** แหล่งข้อมูล :  บทวิจัยของศูนย์วิจัยกสิกรไทย – “Climate Change ที่เกิดถี่และรุนแรงขึ้น กระทบการส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารของไทย”

คลิกอ่านบทวิจัยฉบับเต็มได้ที่นี่ >> https://shorturl.asia/FzbfD

—————————————————————-